ทรายแก้ว (Glass Sand)
ทรายแก้ว หรือ ทรายขาว คือ ทรายบริสุทธิ์ที่มีปริมาณซิลิกาไดออกไซด์(sio2) มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปและมีสารประกอบอื่นๆ เจือปนอยู่เล็กน้อยเป็นพวกอลูมิเนียมออกไซด์(AI203)เหล็กออกไซด์(Fe203)แคลเซียมออกไซด์(Ca0)แมกนีเซียม(Ma0) และอินทรีย์สารซึ่งทำให้แก้วไม่โปร่งใสและสูญเสียความแข็ง ทรายแก้วเกิดขึ้นโดยทั่วไปในธรรมชาติ โดยกระบวนการทางเคมีและทางฟิสิกส์มีคลื่นลมและกระแสน้ำเป็นตัวการสำคัญในการคัดขนาดของทรายและส่วนประกอบทางเคมีดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการนำไปพิจารณาคุณสมบัติของทรายแก้วแต่ละแห่งที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแต่ละชนิด ลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ทรายแก้ว ทรายแก้วเกิดจากการผุพังของหินทรายในมหายุคมีโสโซอิค (MESOZOIC) ถูกกระแสน้ำพัดพามาสะสมตัวบริเวณชายฝั่งทะเล ประกอบกับการยกตัวของแผ่นดินและคลื่นลม SORTING ซึ่งเป็นขบวนการทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการชะล้างแร่อื่นๆที่ไม่ใช่แร่ควอร์ตออกไป รวมทั้งการกระจายตัวของขนาดเม็ดทรายสม่ำเสมอ นโยบายและมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแร่ทรายแก้ว
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมทรัพยากรธรณี มีความเห็นให้สงวนแร่ทรายแก้วไว้ใช้ภายในประเทศ และนำเสนอคณะกรรมการกำหนดนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2517 คณะกรรมการกำหนดนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมติให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมาตรี เพื่อพิจารณาขอให้สงวนทรายแก้วไว้ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งการห้ามส่งทรายแก้วออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมาตรี ดังนี้คือ มติคณะรัฐมนตรี 1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2517 ไม่อนุญาตให้ส่งทรายแก้ว ทั้งที่แต่งแล้วและยังไม่ได้แต่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสงวนไว้ใช้ในอุตสาหกรรมที่จะทำรายได้ให้แก่ประเทศแล้วให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าต่อไป นโยบายรัฐบาลดังกล่าว ส่งผลกระทบให้มีผู้พยายามลักลอบส่งทรายแก้วออกนอกราชอาณาจักรในรูปแบบต่างๆ เช่น ทรายบดและทรายผสม ส่งออกในรูปของทรายแม่น้ำบดเนื่องจากทรายแก้วมีคุณสมบัติทางเคมีเช่นเดียวกับทรายแม่น้ำไม่อาจแยกได้โดยวิธีการทางเคมีว่าเป็นทรายแก้วหรือทรายแม่น้ำ นอกจากดูสภาพทางกายภาพของเม็ดทราย เพื่อป้องกันการลักลอบส่งทรายแก้วออกนอกราชอาณาจักรโดยอำพรางในรูปแบบต่างๆ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาห้ามส่งทรายทุกชนิดทั้งที่แต่งแล้วและยังไม่แต่ง ตลอดจนทรายบดหรือทรายผสมออกนอกราชอาณาจักร 2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2536 ตามข้อเสนอของกรมทรัพยากรธรณี ห้ามส่งทรายทุกชนิดออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลักลอบนำทรายแก้ว ทรายแม่น้ำออกนอกราชอาณาจักร โดยมีเจตนารมณ์ที่จะสงวนรักษาทรัพยากรไว้ใช้ภายในประเทศอย่างคุ้มค่าและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการผลิตทรายแม่น้ำ อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวนี้ยังขาดความชัดเจนในเรื่องคำจำกัดความของ”ทรายทุกชนิด” กรมทรัพยากรธรณีได้เสนอแก้ไขและเพิ่มเติมข้อความที่เป็นความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 3.คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 อนุมัติตามเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ (คือห้ามส่งทรายธรรมชาติทุกชนิดที่มีซิลิกาออกไซด์เกินกว่าร้อยละ 75 ทั้งที่บดแล้วและยังไม่ได้บดออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้มิได้หมายรวมถึงทรายที่เป็นส่วนประกอบในวัตถุสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป) สำหรับแร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบให้กำหนดเป็นสินค้าควบคุมที่จะต้องขออนุญาตส่งออกเป็นรายๆไป ตามความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการต่อไป |
ทรายแก้วที่มีการผลิตในภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
1. ทรายดิบ เป็นทรายแก้วที่ได้จากการทำเหมืองแร่ทรายแก้ว โดยไม่ผ่านกระบวนการแต่งแร่แต่อย่างใด มีคุณสมบัติทางเคมีค่อนข้างต่ำ เพราะมีมลทินและสิ่งเจือปนสูงกว่าทรายแก้วชนิดอื่น ส่วนใหญ่จะส่งเข้าโรงแต่งแร่เพื่อล้างเอามลทินและสิ่งเจือปนบางส่วนออกเป็นทรายล้างต่อไป 2.ทรายล้าง เป็นทรายดิบที่นำมาแต่งโดยวิธีการล้างด้วยน้ำ มีคุณสมบัติทางเคมีสูงกว่าทรายดิบ ปริมาณซิลิกา 96 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและกระจกที่ต้องการสี เช่น สีชา สีทึบ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องการปริมาณซิลิกาสูง 3.ทรายแต่ง เป็นทรายล้างที่นำมาแต่งด้วยเครื่อง Humphrey Spiral เพื่อแยกเอาแร่เหล็กออกให้เหลือประมาณ 0.02 ซึ่งใช้ใน อุตสาหกรรมแก้วที่มีคุณภาพสูง ทรายแก้วชนิดนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงกว่าการผลิตทรายแก้ว 2 ชนิด และจำหน่ายตามความต้องการของผู้ใช้ โดยทั่วไปอุตสาหกรรมแก้วหรือผลิตภัณฑ์แก้ว ใช้แร่ทรายแก้วที่มีแร่เหล็กไม่เกิน 0.02 ความชื้นไม่เกิน 5% และอุตสาหกรรมเซรามิก ใช้แร่ทรายแก้วที่มีขนาด 120 เมชขึ้นไป ส่วนอุตสาหกรรมหล่อโลหะใช้ทรายหยาบและมีความชื้น 0.0%
แหล่งแร่
แหล่งแร่ทรายแก้วในประเทศไทยอยู่ในบริเวณแนวชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออกและภาคใต้ทั้งภาคใต้ตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย 1. แหล่งทรายแก้วในภาคตะวันออก เป็นแหล่งทรายแก้วที่มีลักษณะการสะสมตัวของแหล่งทรายแก้วชั้นบนสุดมีสีน้ำตาลถึงสีดำ เนื่องจากมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ชั้นทรายตอนกลางจะมีสีขาว มีความหนาตั้งแต่ 0.10-2.00 เมตร ลึกลงไปจะเป็นทรายแก้วเกรดต่ำ โดยมีแหล่งแร่ทรายแก้วอยู่ในจังหวัดต่างๆ ดังนี้ จังหวัดระยอง มีพื้นที่แหล่งแร่ 6 พื้นที่ ได้แก่ แหล่งทรายแก้วบ้านท่าโลง บ้านในซอก แหลมหญ้า-แหลมสน-แหลมเทียน บ้านอ่าวเสม็ด-แหลมตาล บ้านซากมะกรูด บ้านกรอกหว้า จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่แหล่งแร่ 5 พื้นที่ ได้แก่ แหล่งทรายแก้วบ้านหนองไทร บ้านโขดหอย บ้านท่าแกลง บ้านคลองขุด บ้านหมูดูด จังหวัดตราด มีพื้นที่แหล่งแร่ 8 พื้นที่ ได้แก่ แหล่งทรายแก้วบ้านท่ายาง บ้านแหลมพร้าว บ้านอ่าวขาม แหลมกลัด-บ้านม่วงเอน บ้านคลองหิน-เขาล้าน บ้านเขาล้าน-หาดโคลน บ้านไม้รูด-บ้านตาหมึก 2.แหล่งทรายแก้วในภาคใต้ ส่วนใหญ่เกิดเป็นแนวยาวขนานอยู่ตามชายฝั่งทะเลตอนบนชั้นทรายแก้วจะมีสีดำเพราะมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่ทำให้ทรายสกปรกแต่มีความหนาไม่มากนักเพียง 20-30 เซนติเมตร ส่วนทรายที่รองรับทรายแก้วเป็นทรายสีน้ำตาลแก่ โดยมีแหล่งแร่มรายแก้วในจังหวัดต่างๆ ดังนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่แหล่งแร่ 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านต้นพยอม-สิชล บ้านจอมพิบูลย์ และบ้านตลาดต้นพยอม-บ้านจอมพิบูลย์ อำเภอสิชล จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่แหล่งแร่ 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านป่าคอก เกาะนาคาใหญ่ และบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดสงขลา มีพื้นที่แหล่งแร่ 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอจะนะ จังหวัดชุมพร มีพื้นที่แหล่งแร่ 4 พื้นที่ ได้แก่ บ้านดอนตะเคียน อำเภอปะทิว ด่านสวี อำเภอสวี บ้านทุ่งขาม อำเภอเมือง และบ้านปากน้ำตะโก อำเภอท่าตะโก จังหวัดตรัง มีพื้นที่แหล่งแร่ 3 พื้นที่ ได้แก่ แหลมจุโหย บ้านสะพานคลองช้าง แนวชายฝั่งทะเลอำเภอสิเกา-กันตัง จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่แหล่งแร่ 1 พื้นที่ ได้แก่ บ้านโต๊ตีเต อำเภอยะหริ่ง จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่แหล่งแร่ 1 พื้นที่ ได้แก่ แนวชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่ |